เบาหวานขึ้นจอประสาทตาคืออะไร

 Home
» Knowledge of Health » เบาหวานขึ้นจอประสาทตาคืออะไร แบ่งปันไปยัง facebook

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา คืออะไร

       เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย เกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือดจากภาวะน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล ซึ่งเกิดกับเส้นเลือดที่เลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย รวมทั้งเส้นเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตาด้วย เมื่อเส้นเลือดมีความเสื่อมลงทำให้มีการรั่วซึมของสารน้ำหรือไขมัน หรือเลือดบริเวณจอประสาทตา หรืออาจเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาบวม หรือเซล์ประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยงบางจุด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตามัวลง ในบางรายที่มีการปริแตกของเส้นเลือด ทำให้มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา จนทำให้เห็นจุดดำลอยฟุ้งกระจายในตา มีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทดแทนในส่วนที่เสียหายไป แต่เส้นเลือดที่เกิดขึ้นใหม่นี้ก็เปราะแตกง่าย เสียหายซ้ำๆ เป็นรอยแผลจนทำให้เกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาให้ฉีกขาดหรือหลุดลอก เพิ่มความเสียหายให้จอประสาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหรือตาบอดได้

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มมีอาการเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

     ในระยะแรกของผู้ป่วยเบาหวานหากไม่ได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ อาจไม่ทราบเลยว่าตนเองเริ่มมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาหรือไม่ เนื่องจากในระยะแรกนั้นไม่มีอาการผิดปกติเลยจนระยะของโรคลุกลามมากขึ้น

   - ตามัวลง

    จากหลอดเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตาเสื่อมลง มีการรั่วซึมของน้ำเลือดหรือไขมัน ทำให้จอประสาทตาบวม หากจุดบวมน้ำเกิดบริเวณจุดรับภาพจะทำให้การมองเห็นลดลงอย่างรวดเร็ว

   - เห็นจุดดำลอยในตา

     เกิดจากการปริแตกของหลอดเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตา มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา ทำให้มองเห็นจุดดำๆลอยในตา หรือจอประสาทตาบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์ประสาทตาเสื่อมหรือตายเป็นบางจุด

   - มองเห็นแสงฟ้าแลบหรือเงาดำบดบังการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดของภาพ

     เกิดจากมีการหลุดลอกหรือฉีกขาดของจอประสาทตา จากการดึงรั้งของพังผืดที่จอตา การมองเห็นจะลดลงอย่างรวดเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้นานจอประสาทตาบริเวณดังกล่าวจะสูญเสียการทำงานอย่างถาวร

 

เบาหวานขึ้นจอประสาทตาแบ่งได้กี่ระยะ

   1.เบาหวานขึ้นจอประสาทตาระยะต้น หรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่ (Non Proliferative Diabetic Retinopathy)   ตรวจพบผนังหลอดเลือดบางส่วนผิดปกติ มีการโป่งพอง อาจมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ มีการรั่วของสารน้ำจากหลอดเลือด เกิดภาวะจอประสาทตาบวมน้ำได้ แต่ยังไม่พบหลอดเลือดฝอยงอกใหม่

   2.เบาหวานขึ้นจอตาระยะที่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy หรือ PDR)   เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกตินานๆ ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อม เกิดภาวะปริแตก หรืออุดตัน จอประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง กระตุ้นให้จอประสาทตาสร้างเส้นเลือดขึ้นใหม่ โดยเส้นเลือดใหม่นี้ก็ไม่สมบูรณ์แข็งแรงพอ ทำให้เกิดการปริแตกเป็นแผลซ้ำๆ เกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาฉีกขาด หลุดลอก หรือมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาอย่างรุนแรงได้


ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

   - จอประสาทตาบวม

     จากการรั่วซึมของสารน้ำในหลอดเลือดที่ปริแตกหรืออุดตัน ทำให้จอประสาทตาบวม โดยเฉพาะในรายที่มีการบวมบริเวณจุดรับภาพ จะทำให้การมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว

   - เลือดออกในน้ำวุ้นตา

     จากการปริแตกของหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรง ทำให้มีเลือดออก หากมีปริมาณไม่มาก อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นจุดดำลอยไปมา แต่หากเลือดออกในปริมาณมาก อาจบดบังการมองเห็นได้

   - จอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอก

     เกิดจากเส้นเลือดบริเวณจอประสาทตาที่สร้างใหม่เกิดการปริแตกซ้ำๆ จนเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาให้ฉีกขาดหรือหลุดลอกได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเห็นแสงคล้ายฟ้าแลบ หรือจุดดำบังภาพบางส่วนหรือทั้งหมด

   - ต้อหิน

      เป็นผลจากการงอกใหม่ของเส้นเลือดในตา รบกวนการระบายของน้ำหล่อเลี้ยงตา ส่งผลให้ความดันลูกตาสูงขึ้น เกิดภาวะต้อหินได้

   - สูญเสียการมองเห็น

       ในภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาหรือภาวะแทรกซ้อนจากต้อหิน จะมีการทำลายของเซลล์ประสาทตาและขั้วประสาทตา หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องถูกวิธี อาจส่งผลให้นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

 

การดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. ในผู้ป่วยเบาหวานทุกรายควรพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นประจำทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ

  2. การใช้เลเซอร์ช่วยชะลอหรือยับยั้งการรั่วซึมของสารน้ำ หดกระชับเส้นเลือดที่มีความโป่งผิดปกติ ระงับการเกิดของหลอดเลือดใหม่ และลดอาการบวมของจอประสาทตา ผู้ป่วยจะได้รับการหยอดยาขยายม่านตา และยาชาก่อนเข้ารับการยิงเลเซอร์ เพื่อลดอาการระคายเคือง และไม่สบายตาระหว่างทำการรักษา หลังทำผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้และไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ สามารถล้างหน้างได้ตามปกติ

  3. การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา ได้แก่การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยากลุ่ม Anti VEGF เข้าในน้ำวุ้นตา เพื่อลดภาวะจอประสาทตาบวม ข้อดีคือในรายที่ตอบสนองต่อยาได้ดี หลังจอประสาทตายุบบวม การมองเห็นจะกลับคืนมาได้เกือบเท่าปกติ โดยไม่มีการทำลายจอประสาทตาบางส่วนเหมือนการยิงเลเซอร์ แต่ข้อเสียคือยาจะออกฤทธิ์ได้เพียงชั่วคราว ผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการจอประสาทตาบวม ต้องกลับมาฉีดยาซ้ำ รวมทั้งอาจมีผลข้างเคียงของยา หรือมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากวิธีการฉีดเหมือนการผ่าตัดอื่นๆได้

  4. การผ่าตัด (Vitrectomy) ในกรณีที่โรครุนแรงจนมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา มีพังผืดดึงรั้งจนจอประสาทหลุดลอก หรือในรายที่จุดรับภาพบวมไม่ตอบสนองหลังการรักษาด้วยเลเซอร์หรือยาฉีด แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดเพื่อล้างเลือดที่ออกในน้ำวุ้นตา และรักษาภาวะจอประสาทตาหลุดลอก โดยการฉีดแก๊สหรือซิลิโคนเหลวเพื่อกดจอประสาทตาที่หลุดให้ติดราบลงไป โดยหลังผ่าตัดกรณีนี้ผู้ป่วยต้องนอนพักในท่าคว่ำหน้าเป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้แก๊สหรือซิลิโคนลอยตัวดันจอประสาทตาที่หลุดลอกให้ติดแน่น งดโดยทางเดินเครื่องบินหรือการเดินทางขึ้นเขาสูงหากผู้ป่วยยังมีแก๊สในตา เนื่องจากแก๊สอาจขยายตัวเพิ่มความดันในลูกตาจนเกิดภาวะต้อหินเฉียบพลันได้

การป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

   - ในผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานแม้จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจจอประสาทตาปีละครั้ง

   - ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ไม่เกิน 110 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์)

   - ในผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ(ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท)

   - หากมีอาการตามัว เห็นจุดดำลอยในตา มองเห็นเงาดำหรือแสงฟ้าแลบในตาให้รีบมาพบจักษุแพทย์ทันที

   - ควบคุม หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่

   - รับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด และตรวจติดตามนัดอาการตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ