ถามตอบปัญหา เรื่องการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย แพทย์หญิง วรวรรณ บุญรักษา อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » ถามตอบปัญหา เรื่องการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย แพทย์หญิง วรวรรณ บุญรักษา อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ แบ่งปันไปยัง facebook

ถามตอบปัญหา    เรื่องการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

คำถามที่  1  โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้มากน้อยเพียงใด

ตอบ  โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของระบบทางเดินอาหาร โดยมีอัตราการเกิดโรคใหม่ และอัตราตาย ในลำดับต้นๆ ข้อมูลของประเทศไทยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี พ.ศ 2555 พบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบเป็นอันดับที่ 2 รองจาก มะเร็งปอดในเพศชาย และพบเป็นอันดับที่ 3 รองจาก มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ในเพศหญิง  และอุบัติการณ์ เพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น

คำถามที่ 2  มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือไม่ อย่างไร

ตอบ  มีทั้งปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม  การเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง และ ปัจจัยเสี่ยงด้านภาวะแวดล้อม ได้แก่ การมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่  การเจ็บป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ภาวะอ้วน การบริโภคเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า เป็นต้น

คำถามที่ 3  จากคำถามข้างต้น จะเห็นว่า บุคคลที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม หรือเจ็บป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ก็ยังมีโอกาส เกิดโรคมะเร็งลำใส้ใหญ่ เนื่องจากมีปัจจัยทางภาวะแวดล้อมที่เข้ามา ดังนั้นบุคคลทั่วๆไป จึงควรได้รับการตรวจเพื่อหามะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือไม่อย่างไร

ตอบ การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เชื่อว่ามีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน จากเนื้อเยื่อปกติ เกิดเป็นติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ และพัฒนาไปเป็นมะเร็ง โดยในระยะที่เป็นติ่งเนื้อและมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้นๆ มักไม่มีอาการแสดงให้เห็น ร่วมกับข้อมูลทางระบาดวิทยาที่พบอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้นตามอายุ โดยกว่าร้อยละ 90 ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ พบที่อายุ  50 ปี ขึ้นไป  จึงมีแนวปฏิบัติในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป

คำถามที่ 4  มีวิธีการตรวจคัดกรองอย่างไรบ้าง

ตอบ  มีวิธีการหลายอย่าง แต่มีข้อดีข้อด้อยต่างกันออกไป  ยกตัวอย่างเช่น การตรวจหาเลือดออกแฝงในอุจจาระ ข้อดี คือทำได้ง่าย ปลอดภัย ข้อด้อย คือ ความไวในการตรวจยังด้อยกว่าการตรวจชนิดอื่น  การตรวจด้วยวิธีนี้ หากพบว่าผลเป็นบวก ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อไป
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ข้อดีคือ สามารถตรวจหาติ่งเนื้อ ได้ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ สามารถตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ออกได้ และหากพบรอยโรคผิดปกติ ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิได้ต่อไป ข้อด้อยคือ มีความเสี่ยงของการให้ยาระงับความรู้สึกขณะทำ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือได้ความเสี่ยงจากการส่องกล้อง เช่น เลือดออก ลำไส้ทะลุ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่  ข้อดีคือ ตรวจลำไส้ใหญ่ ได้ตลอดลำไส้ เห็นพยาธิสภาพนอกลำไส้ ไม่ต้องให้ยาระงับความรู้สึก ข้อด้อย คือ หากติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร อาจมีความไวต่ำลง และหากพบติ่งเนื้อจากการตรวจด้วยวิธีนี้ ควรได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อตัดติ่งเนื้อออกจะเห็นได้ว่ามีหลายวิธี จึงแนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ค่ะ

คำถามที่ 5 จากที่กล่าวมา  หากพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ และตัดออกได้ จึงลดการเกิดมะเร็งได้ ใช่หรือไม่

ตอบ  มีข้อมูลการศึกษาพบว่า การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ร่วมกับการตัดติ่งเนื้อนั้น ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ ลดอัตราตาย จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้  โดยสรุปคือ ถ้าตรวจพบรอยโรคได้ตั้งแต่ก่อนเกิดมะเร็ง หรือพบมะเร็งระยะแรก จะทำให้สามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ