มารู้จักโรคต้อกระจกกันเถอะ

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » มารู้จักโรคต้อกระจกกันเถอะ แบ่งปันไปยัง facebook

มารู้จักโรคต้อกระจกกันเถอะ

      ต้อกระจกเป็นโรคทางตาที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการตามัว มองเห็นไม่ชัดในที่มีแสงสว่างมาก และมองเห็นชัดกว่าในที่มีแสงน้อย เมื่ออยู่ในที่มีแสงจ้ามากๆ จะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ โดยอาการที่เป็นเหล่านี้จะไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

โรคต้อกระจกเป็นโรคทางตาที่ไม่ติดต่อ ไม่ลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปยังดวงตาอีกข้างหนึ่ง แต่มักตรวจพบว่าเริ่มเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากได้รับปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสื่อมของเลนส์แก้วตาขึ้นพร้อมๆ กัน

สาเหตุของการเกิดต้อกระจก

 ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์ขุ่นมัวลง โดยมีปัจจัยเสริมต่าง ๆ ดังนี้

   - อายุ   กว่า 80%ของโรคต้อกระจกพบในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามวัย

   - การได้รับอุบัติเหตุ   การถูกกระทบกระเทือนทางตาอย่างรุนแรง

   - จากการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

   - โรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้บางชนิด โรคขาดสารอาหาร   สามารถกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมของเลนส์ได้เร็วกว่าปกติ

   - ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางตาบางชนิด เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ตา

   - จากรังสี หรือผู้ที่ต้องสัมผัสแสงจ้าเป็นเวลานานๆ เช่น ทำงานกลางแดดตลอดเวลา หรือประกายไฟ จากการเชื่อมโลหะ

   - การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ มีผลทำให้เลนส์เสื่อมก่อนวัยได้

อาการของโรคต้อกระจก

   - ตามัว    ผู้ป่วยส่วนมากมักมาพบแพทย์ด้วยอาการตามัวลงเรื่อย ๆ มองไม่ชัด มองเห็นชัดในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน (เมื่ออยู่ในที่แสงน้อย รูม่านตาขยายทำให้แสงผ่านได้มากขึ้น แต่เมื่ออยู่ในที่สว่าง รูม่านตาหดตัว แสงจะตกกระทบเฉพาะบริเวณกลางเลนส์ที่ขุ่น ทำให้เห็นภาพไม่ชัด)

    - เห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องใส่แว่นเหมือนเคย    ในผู้สูงอายุที่เคยต้องสวมแว่นตาอ่านหนังสือ กลับสามารถมองเห็นชัดขึ้นโดยไม่ต้องใช้แว่นเหมือนเดิม เกิดจากการหักเหของแสงตกกระทบเลนส์ตาส่วนที่ขุ่น ทำให้ผู้สูงอายุกลับมาเป็นสายตาสั้นเมื่อแก่

    - จุดสีขาวกลางตาดำ   ในบางรายเห็นเป็นฝ้าสีขาวบริเวณกลางรูม่านตาที่เรียกว่า  “ ต้อกระจกสุก”

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อกระจก

   - เมื่อต้อกระจกสุกและไม่ได้รับการรักษา ทำให้ตามัวลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็น

   - ในบางรายเมื่อต้อสุกมาก เลนส์อาจบวมหรือลอยไปอุดกั้นทางระบายของน้ำหล่อเลี้ยงตา   ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็น “ ต้อหิน ” ได้

การรักษาโรคต้อกระจก

   โรคต้อกระจกสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดนำเลนส์ที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียม แสงจะสามารถผ่านเลนส์แก้วตาเทียมได้ดีกว่าเลนส์ที่ขุ่นเดิม ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นทันทีหลังผ่าตัด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาทำผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ให้เมื่อระยะดำเนินของโรครบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต เช่น การทำงานที่ต้องใช้สายตา การอ่านหนังสือ หรือการขับรถ เป็นต้น

วิธีการผ่าตัดต้อกระจก

  1. Phacoemulsification

        เป็นวิธีที่นิยมทำกันในปัจจุบัน โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง หรือคลื่นอุลตร้าซาวนด์ ไปสลายเลนส์ที่ขุ่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ดูดออก จากนั้นใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ วิธีนี้แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กมาก ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน หลังทำผู้ป่วยไม่ต้องใส่แว่นเวลามองไกล แต่เวลาอ่านหนังสือมักต้องใช้แว่นตาเช่นเดียวกับผู้ที่มีสายตายาวตามอายุทั่วไป

  1. Extracapsular Cataract Extraction (ECCE)

        นิยมใช้ในกรณีจำเป็น เช่น ต้อกระจกสุกมาก เลนส์ที่ขุ่นแข็งจนไม่สามารถใช้คลื่นอุลตร้าซาวนด์สลายได้ ในปัจจุบันไม่นิยมใช้ เนื่องจากแผลจะใหญ่ หลังผ่าตัดต้องเย็บแผล ใช้เวลาในการดูแลแผลนานกว่า

วิธีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์

  1. ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัด สามารถรับประทานได้ตามปกติ
  2. ก่อนผ่าตัด อาบน้ำ สระผม ชำระร่างกายให้สะอาด
  3. ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ปรึกษาอายุรแพทย์ก่อนผ่าตัดเพื่อควบคุมอาการของโรคเดิมก่อน และอาจพิจารณาหยุดยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือดก่อนทำการผ่าตัด เป็นต้น
  4. ก่อนวันผ่าตัดจะมีการวัดขนาดของเลนส์แก้วตาเดิม เพื่อเลือกขนาดของเลนส์แก้วตาเทียม ให้เหมาะสมเฉพาะเป็นรายบุคคล

 

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดใส่เลนส์เทียม

  1. วันแรกหลังจากผ่าตัด ควรนอนพักให้มากที่สุด ห้ามนอนตะแคงทับข้างที่ผ่าตัด หลังผ่าจะปิดตา และมีฝาครอบตาไว้ก่อน
  2. หลังผ่าตัด 1 วัน แพทย์จะนัดเปิดตาหลังผ่าตัด เช็ดทำความสะอาดตาโดยใช้สำลีชุบน้ำเกลือ เช็ดจากหัวตาไปหางตาจนสะอาด หลังจากพบแพทย์แล้ว ผู้ป่วยสามารถสวมแว่นตาแทนฝาครอบตาได้ และใส่ฝาครอบตาเฉพาะตอนนอนเท่านั้น จนครบ 1 เดือน
  3. ห้ามน้ำเข้าตาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ (หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต) ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาด ใบหน้าแทนการล้างหน้าแบบปกติ ระมัดระวังน้ำเข้าตาขณะอาบน้ำหรือสระผม
  4. ห้ามขยี้ตาข้างที่ผ่าตัด ใส่แว่นตาไว้หรือใช้ฝาครอบตาไว้ตอนนอน
  5. สวมแว่นกันแดดเมื่อออกไปในที่แสงจ้ามาก
  6. งดออกกำลังกายหนักๆ หรือยกของหนัก 2-3 สัปดาห์ (หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต)
  7. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ใช้ยาต่าง ๆ ให้ครบถ้วนตามแผนการรักษา
  8. พบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการตามนัดทุกครั้ง ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตามัวลง ปวดตามาก มีขี้ตามาก ตาแดง ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนถึงวันนัด
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ