การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร

 หน้าแรก
» การเตรียมตัวก่อนการรักษา » การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร  แบ่งปันไปยัง facebook
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน ( Esophagogastroduodenoscopy )
      หมายถึงการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
โดยทั่วไปจะทำการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนในผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี่

  1.โรคกระเพาะอาหาร  หมายถึงภาวะที่มีอาการปวด จุก แน่น แสบหรือเสียดที่บริเวณลิ้นปี่ที่สัณนิษฐานว่าจะมีสาเหตุ   จากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ร่วมกับมีสัญญาณอันตราดังต่อไปนี้
อาเจียนมาก   น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ    กลืนลำบาก    มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำคล้ายยางมะตอย   รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ    ในกรณีที่มีความวิตกกังวลมากหรือผู้ป่วยร้องขอ

    2.โรคกรดไหลย้อน หมายถึงภาวะที่มีอาการแสบร้อนที่บริเวณหน้าอก อาจมีอาการเรอเปรี้ยวร่วมด้วย

    3.ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน เช่น อาเจียนเป็นเลือดสด ดำคล้ำ หรือมีถ่ายดำเหม็นคาว   คล้ายยางมะตอยหรือคล้ายกาละแม

    4.ผู้ป่วยโรคตับแข็งทุกราย ควรได้รับการส่องกล้องตรวจเพื่อหาภาวะเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร

 ข้อควรปฏิบัติก่อนการส่องกล้องตรวจ
•    งดน้ำงดอาหารทางปากเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
•    หากท่านมีโรคประจำตัวและรับประทานยาประจำอยู่ควรจะปรึกษาแพทย์ว่าควรจะหยุดยาก่อนหรือไม่
•    ควรพาญาติมาด้วยทุกครั้งเพราะในบางกรณีท่านอาจได้รับยาที่ทำให้รู้สึกมึนงง

ขั้นตอนในการส่องกล้องตรวจ
•    ท่านจะได้รับการพ่นยาชาเฉพาะที่ที่บริเวณโพรงคอด้านหลังประมาณ 3 ครั้งห่างกันครั้งละ 5 นาที หลังพ่นยาชาท่านจะมีความรู้สึกชาที่บริเวณโคนลิ้นและมีอาการกลืนน้ำลายลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายเป็นปกติภายในเวลา 1-2 ชั่วโมงหลังการส่องกล้องตรวจ
•    เจ้าหน้าที่จะจัดท่าสำหรับการส่องกล้องตรวจโดยให้ท่านนอนตะแคงซ้ายคล้ายกับการกอดหมอนข้าง
•    ส่องกล้องตรวจโดยปกติจะใช้เวลาในการส่องกล้องประมาณ 5-10 นาที ระหว่างที่ทำหัตถการท่านอาจมีความรู้สึกอึดอัดแน่นท้องซึ่งเป็นจากการเป่าลมเพื่อขยายกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้
•    หลังส่องกล้องตรวจท่านสามารถรับประทานอาหารได้ถ้าอาการกลืนน้ำลายลำบากหายเป็นปกติแล้ว แนะนำว่าให้ลองดื่มน้ำเย็นก่อนถ้าไม่มีสำลักถึงเริ่มรับประทานอาหารได้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มร้อนเพราะอาจเป็นอันตรายได้จากการที่ได้รับยาชาเฉพาะที่
•    หลังส่องกล้องตรวจท่านสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ

 ภาวะแทรกซ้อน

•    ในบางรายอาจรู้สึกอึดอัดแน่นท้องหลังการส่องกล้อง ซึ่งอาจเป็นจากการเป่าลมให้กระเพราะอาหารขยายขณะทำการส่องกล้องตรวจ
•    เกิดอันตรายต่อ โพรงคอด้านหลัง หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยอาจพบว่ามีการทะลุของอวัยวะดังกล่าว แต่พบได้น้อยมากประมาณ 0.03 % ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดฉุกเฉิน
•    อาจเกิดการสำลักอาหาร น้ำลายหรือกรดในกระเพาะอาหารและเกิดภาวะปอดอักเสบตามมา
•    พบภาวะเลือดออกผิดปกติ ซึ่งอาจพบหลังการตัดชิ้นเนื้อตรวจในผู้ป่วยบางราย

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่  (Colonoscopy)
หมายถึงการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด รวมถึงสำไส้เล็กส่วนปลาย บุคคลที่จะได้รับประโยชน์ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ มีดังนี้
•    บุคคลที่มีความผิดปกติของระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง (ถ่ายเหลวผิดปกติมาเป็นเวลามากกว่า 4 สัปดาห์) ถ่ายมีมูกปนเลือด หรือมีอาการปวดเบ่งเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุดตลอดเวลา
•    บุคคลที่ถ่ายเป็นเลือดสด
•    บุคคลที่มีอาการปวดท้องเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
•    บุคคลที่มีญาติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
•    บุคคลทั่วไปที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
•    ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่นข้าวต้มหรือโจ๊ก และควรงดอาหารที่มีกากมาก เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ เป็นเวลา 3 วัน ก่อนทำการส่องกล้องตรวจ
•    งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนที่จะมาทำการส่องกล้องตรวจ
•    แพทย์จะให้ท่านรับประทานยาระบายหนึ่งวันก่อนที่จะทำการส่องกล้องตรวจ เพื่อเตรียมลำไส้ใหญ่ให้สะอาด ควรรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะหากลำไส้ใหญ่ไม่สะอาดการส่องกล้องตรวจจะทำไม่ได้
•    หากท่านมีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาใดเป็นประจำควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
•    กรุณาพาญาติมาด้วยทุกครั้ง เพราะการส่องกล้องตรวจจำเป็นต้องให้ยาระงับอาการปวดซึ่งอาจทำให้ท่านมีอาการมึนงงหลังการส่องกล้องตรวจได้
•    ท่านสามารถกลับบ้านและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดให้กลับมาพบแพทย์
•    หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ สามารถสอบถามจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมได้

ภาวะแทรกซ้อน
•    อาการอึดอัดไม่สบายท้องหลังการส่องกล้องตรวจ ซึ่งเป็นจากการเป่าลมเพื่อขยายลำไส้ใหญ่ระหว่างทำการส่องกล้องตรวจ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ่น
•    อาจพบภาวะลำไส้ใหญ่ทะลุ ซึ่งพบได้ประมาณ 0.5-1% ซึ่งอาจต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดฉุกเฉิน
•    ภาวะเลือดออก ส่วนมากพบในรายที่จำเป็นต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อ พบได้ประมาณ 1-2 %
•    ภาวะแพ้ยาแก้ปวดที่ให้ระหว่างการส่องกล้องตรวจ ผู้ป่วยอาจมีอาการหน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หัวใจเต้นช้าลงและมีความดันโลหิตต่ำได้

       การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตันอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangio-Pancreatograpy:ERCP)       เป็นหัตถการที่แพทย์ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้เล็กส่วนต้น ทำการตรวจวินิจฉัยกายวิภาคของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ปัจจุบันสามารถทำการผ่าตัดรักษาโดยผ่านกล้อง เช่น การผ่าตัดเปิดปากท่อน้ำดี การคล้องนิ่วออกจากท่อน้ำดีและตับอ่อน การสลายนิ่ว การขบนิ่ว การใส่ท่อระบายน้ำดีหรือตับอ่อนในกรณีที่มีการอุดตันจากการตีบแคบหรือจากมะเร็ง เป็นต้น
    สำหรับข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน หลัก ๆ มีดังนี้
•    สงสัยท่อทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อนอุดตัน ไม่ว่าจะป็นจากนิ่ว หรือเนื้องอก เป็นต้น
•    สงสัยการทำงานผิดปกติของหูรูดของท่อน้ำดีร่วมทำงานผิดปกติ
•    สงสัยมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี
•    สงสัยภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีหรือท่อทางเดินน้ำดี เช่น ท่อน้ำดีรั่ว/ฉีกขาดหรืออุดตัน
    การตรวจด้วยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ แต่ในบางรายก็ไม่ประสบความสำเร็จ  จำเป็นต้องทำซ้ำหรือต้องเปลี่ยนวิธีตรวจรักษาเป็นวิธีอื่น เช่น ผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้มีดังนี้
       1.เลือดออก เป็นภาวะแทรกที่พบบ่อยที่สุด แต่ส่วนใหญ่เลือดจะออกไม่มาก มีเพียง 0.4 -2% ที่ตกเลือดมากจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตและอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด
       2.อันตรายต่อทางเดินน้ำดี หรือตับอ่อน เช่น ทางเดินน้ำดีละตับอ่อนทะลุหรือฉีกขาด จำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉิน
       3.ตับอ่อนอักเสบหลังการส่องกล้อง พบได้ 0.5-6.7% ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายเป็นปกติ แต่ในบางรายเกิดอาการรุนแรงและมีรายงานการเสียชีวิต
        4.การติตเชื้อในท่อทางเดินน้ำดี สามารถป้องกันได้โดยกรให้ยาปฏิชีวนะก่อนทำการส่องกล้องตรวจ
        5.การแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงของยาที่ได้รับขณะทำการส่องกล้องตรวจ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจช้า ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หรือแพ้สารทึบแสง ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต
       6.อันตรายต่อทางเดินอาหารส่านต้น เช่น หลอดอาหาร/กระเพาะอาหาร/ลำไส้เล็กส่วนต้นทะลุหรือฉีกขาด อาจจำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉิน
       7.อุปกรณ์ที่ใช้ทำการรักษาผ่านกล้อง เช่นตะกร้อคล้องนิ่วหรือขบนิ่วอาจติดอยู่ในท่อน้ำดี หากเกิดกรณีนี้จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเปิดท่อทางเดินน้ำดีเพื่อที่จะนำอุปกรณ์ที่ติดค้างออก
        ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น หลอดลมอุดตัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอาจเสียชีวิตได้

ข้อควรปฏิบัติก่อนการส่องกล้องตรวจ

•    งดน้ำงดอาหารทางปากเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
•    หากท่านมีโรคประจำตัวและรับประทานยาประจำอยู่ควรจะปรึกษาแพทย์ว่าควรจะหยุดยาก่อนหรือไม่
•    ควรพาญาติมาด้วยทุกครั้งเพราะในบางกรณีท่านอาจได้รับยาที่ทำให้รู้สึกมึนงง
•    หลังส่องกล้องตรวจจะต้องนอนโรงพยาบาล 1 วันเพื่อสังเกตภาวะแทรกซ้อน หากไม่พบความผิดปกติ
      ก็จะได้กลับบ้านในวันรุ่งขึ้น
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ