การปฏิบัติตนของผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่ได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131)

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » การปฏิบัติตนของผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่ได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) แบ่งปันไปยัง facebook


การปฏิบัติตนของผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่ได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (
I-131)

การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยสารรังสีไอโอดีน

การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยสารรังสีไอโอดีน เป็นวิธีรักษาที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวก ง่าย ปลอดภัย และ ใช้กันอย่างแพร่หลายมานานกว่า 70 ปี โดยไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

หลังจากรับประทานสารรังสีไอโอดีน จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้วไปจับที่ต่อมไทรอยด์ จากนั้นจึงปล่อย

รังสีออกมา ทำให้ต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากผิดปกติทำงานลดลง

ส่วนสารรังสีไอโอดีนที่เหลือจะถูกขับออกทางปัสสาวะอย่างรวดเร็ว ดังนั้นปริมาณรังสีที่ร่างกายจะได้รับจึงค่อนข้างน้อย ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าปริมาณรังสีที่ได้จากการตรวจทางเอกซเรย์บางชนิด ท่านจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่ควรระวังคือ รังสีจากตัวท่านอาจจะไปถูกผู้อื่นได้

โดยทั่วไปหลังการรักษา อาการภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษและระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดจะดีขึ้นภายใน 4-8 สัปดาห์ นอกจากนี้ ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่จะมีขนาดเล็กลงเห็นผลชัดเจนภายใน 1-3 เดือน

 

ทำไมจึงต้องป้องกันรังสีไปถูกผู้อื่นและควรทำอย่างไร

   ร่างกายคนจะทนต่อรังสีได้ถึงระดับหนึ่งที่จะไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น หลังจากท่านรับประทานสารรังสี ไอโอดีนแล้ว รังสีจากตัวท่านมิได้เป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างแต่อย่างใด จึงควรมีการป้องกันรังสีจากตัวท่านไป

ถูกผู้อื่น ซึ่งมีหลักอยู่ 4 ประการ คือ

  1. ระยะทาง ถ้าท่านอยู่ห่างจากผู้อื่นได้มากเท่าใด ก็จะทำให้ผู้อื่นได้รับรังสีน้อยลงอย่างมาก
  2. เวลา พยายามลดเวลาที่จะใกล้ชิดกับผู้อื่น เมื่อจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นพยายามใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพื่อให้ผู้อื่นได้รังรังสีจากท่านน้อยลง
  3. สิ่งกำบัง เช่น ผนังห้องหรือฉากโลหะ จะช่วยลดปริมาณรังสีจากท่านไปยังผู้อื่นที่อยู่หลังสิ่งกำบังนั้นได้
  4. ความสะอาด ดังที่กล่าวข้างต้นว่าสารรังสีไอโอดีนจะถูกขับถ่ายทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการทำ

ความสะอาดห้องน้ำ การล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำจะลดการปนเปื้อนของรังสีไปสู่บุคคลอื่นได้

 

ข้อห้ามในการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีนในไทรอยด์เป็นพิษ

  1. สตรีมีครรภ์ ถ้าท่านกำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อพิจารณาให้

การรักษาด้วยวิธีอื่น เพราะรังสีจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

  1. หญิงที่กำลังให้นมบุตร สารรังสีไอโอดีนจะถูกขับออกทางนั้นม ดังนั้นจะเป็นอันตรายต่อบุตรเมื่อดื่มนมที่

เจือปนด้วยสารรัง ในกรณีที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีนี้ต้องหยุดให้นมบุตรก่อนทำการรักษาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ และงดให้นมบุตรหลังรักษา

 

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยสารรังสีไอโอดีน

ก. การป้องกันรังไปสู่คนรอบข้าง ท่านควรปฏิบัติตัวดังนี้ ในระยะเวลา 5-7 วันแรกหลังการรักษา

  1. ดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อขับสารรังสีไอโอดีนออกจากร่างกายโดยเร็ว
  2. หลังใช้ห้องน้ำให้ราดน้ำมากๆ หรือกดชักโครก 2-3 ครั้ง จากนั้นล้างมือด้วยสบู่และน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสีไอโอดีน
  3. เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กหรือสตรีมีครรภ์ (ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตรโดยเฉพาะใน 2 วันแรก)
  4. ควรแยกนอนคนเดียว หรือนอนให้ห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 2 เมตร และควรงดการร่วมเพศ
  5. แยกภาชนะใส่อาหารหรือใช้ช้อนกลางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสีไอโอดีนในน้ำลาย
  6. งดเว้นการตั้งครรภ์ประมาณ 6 เดือนอย่างเคร่งครัดการคุมกำเนิดสามารถทำได้โดยการับประทานยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด หรือใส่ห่วงอนามัย หากต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

 

ข. การระวังเรื่องอาหาร ยา และสุขภาพ เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด ควรงดรับประทานอาหารและยาต่อไปนี้ ในระยะเวลา 3-7 วันแรกหลังการรักษา

  1. อาหารทะเล เกลือและอาหารที่มีไอโอดีนผสมอยู่
  2. ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ เมธิมาโซล (Methimazole) และ โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil, PTU) โดยแพทย์อาจปรับระยะเวลาการงดรับทานยาตามอาการผู้ป่วย
  3. ยาที่มีไอโอดีผสมอยู่ เช่น ยาแก้ไอ และวิตามินต่างๆ (การรับประทานยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์)

 

ค. การปฏิบัติตัวในระยะยาว เนื่องจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษนั้นแม้จะรักษาหายดีแล้ว ท่านจะต้องมาตรวจติดตามตลอดชีวิต เพราะมีโอกาสกลับเป็นซ้ำหรือฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำได้ ควรปฏิบัติดังนี้

  1. มารับการตรวจตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
  2. หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ โปรดมาพบแพทย์ก่อนนัด หรือปรึกษาแพทย์ที่อยู่ใกล้ภูมิลำเนาของท่าน อาการเหล่านี้ ได้แก่
  • ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด
  • เฉื่อยชา ง่วงนอน หนาวง่าย ผิวแห้ง อ้วนเร็ว ท้องอืด ท้องผูก เหน็บชา หรือเป็นตะคริว ซึ่งอาจมีสาเหตุจากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย
  1. เมื่อท่านได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้รักษาว่ามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ท่านต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์เสริมตามที่แพทย์สั่งตลอดชีวิต เพื่อให้มีระดับฮอร์โมนเหมือนคนปกติ

 

ข้อมูลโดย: American Thyroid Association Brochure Radioactivelodine 2014

สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

ปรึกษาออนไลน์

 นัดหมายรับบริการ

สนใจแพคเกจ 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ