การปฏิบัติตนของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่ได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131)

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » การปฏิบัติตนของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่ได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) แบ่งปันไปยัง facebook


 

การปฏิบัติตนของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่ได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131)

หลังจากผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาขั้นตอนต่อไป คือ การรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) ด้วยวิธีการรับประทาน

 

 

ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาล

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีนขนาดสูง ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน หรือจนกว่ารังสีจะถูกขับออกจากร่างกายอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แพทย์จึงให้กลับบ้านได้

 

 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

  1. เตรียมของใช้ประจำวัน เช่น สบู่ แป้ง ยาสีฟัน แปรงสีฟัน หนังสืออ่านเล่น มือถือ วิทยุ
  2. เตรียมลูกอมรสเปรี้ยว เช่น บ๊วย เพื่อเพิ่มการขับน้ำลาย ลดการอักเสบของต่อมน้ำลายจากสารรังสีไอโอดีน
  3. ช่วงระยะเวลาก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลงดอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น เกลือเสริมไอโอดีน,อาหารทะเล ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการรักษา
  4. หากมีโรคประจำตัวควรบอกแพทย์ และนำยาที่รับประทานประจำมาด้วย

 

 

การปฏิบัติตนขณะรับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสารรังสีไอโอดีน

  1. หลังรับประทานสารรังสีไอโอดีนแล้ว 1 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำปริมาณมาก ประมาณ 8 แก้วต่อวัน (ยกเว้นกรณีมีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำ) และปัสสาวะบ่อยๆเพื่อขับสารรังสีไอโอดีนให้ออกจากร่างกายโดยเร็ว
  2. เมื่อครบ 24 ชั่วโมงหลังรับประทานสารรังสีไอโอดีน ให้อมวิตามินชี (50มก.) หรือ ลูกอมรสเปรี้ยว ทุก 2ชั่วโมง (ยกเว้นเวลาหลับไม่ต้องอม) เนื่องจากสารรังสีจะถูกขับออกมากับน้ำลาย ถ้าน้ำลายค้างอยู่ในต่อมน้ำลายนานจะทำให้เกิดต่อมน้ำลายอักเสบ ความเปรี้ยวจะช่วยขับน้ำลายออกจากต่อมน้ำลายทำให้ลดปริมาณรังสีที่ต่อมน้ำลายจะได้รับ
  3. รับประทานอาหารได้ตามปกติ งดเฉพาะอาหารทะเลหรืออาหารที่มีไอโอดีนผสมอยู่
  4. ในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ควรแบ่งอาหารให้มีปริมาณพอดีที่จะรับประทานได้หมด ไม่ควรให้อาหารเหลือ เนื่องจากอาหารที่เหลือจะปนเปื้อนน้ำลายที่มีรังสี กลายเป็นขยะรังสีที่กำจัดได้ยาก และบุคคลอื่นอาจได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
  5. หากต้องการรับประทานผลไม้ ควรเป็นผลไม้ที่สามารถรับประทานได้หมดทั้งผล ไม่ควรมีการคายกากหรือเมล็ดออกมา ด้วยเหตุผลเดียวกับข้อ 4
  6. การขับถ่ายควรขับถ่ายลงส้วมทุกครั้ง ไม่ควรปัสสาวะลงบนพื้นห้องน้ำ หลังจากขับถ่ายควรราดน้ำมากๆ กดชักโครก 2-3 ครั้ง หลังจากนั้นล้างมือด้วยสบู่และน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสีไอโอดีน
  7. เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ให้บ้วนทิ้งลงอ่างล้างหน้าหรือชักโครก แล้วกดน้ำล้างทันที
  8. ควรอาบน้ำและสระผมบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อลดปริมาณสารรังสีไอโอดีนที่ขับออกมาทางเหงื่อ
  9. ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และหญิงมีครรภ์เข้าเยี่ยมโดยเด็ดขาด
  10. ไม่อนุญาตให้ญาติเฝ้า แต่สามารถเข้าเยี่ยมได้ครั้งละไม่เกิน 15 นาที (หรือตามที่แจ้งไว้ที่ประตูห้อง) โดยยืนหลังฉากตะกั่วที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
  11. หากมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที

 

 

การปฏิบัติตนเมื่อกลับบ้านหลังจากได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน

 

  1. แม้แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว แต่ตัวผู้ป่วยเองจะยังคงมีสารรังสีอยู่ในร่างกายจำนวนหนึ่ง โดยปริมาณรังสีจะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป แม้ปริมาณรังสีดังกล่าวจะไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่เพื่อไม่ให้บุคคลรอบข้างได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น ควรปฏิบัติตนดังนี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์

           1.1 ดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อขับสารรังสีไอโอดีนที่ยังหลงเหลืออยู่ให้ออกจากร่างกายโดยเร็ว

           1.2 หลังจากใช้ห้องน้ำให้ราดน้ำมากๆ หรือกดชักโครก 2-3 ครั้ง หลังจากนั้นล้างมือด้วยสบู่และน้ำมากๆ

           1.3 สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดเด็กหรือคนท้องเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลดังกล่าวได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น

           1.4 ควรแยกนอนคนเดียว หรือนอนให้ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร

           1.5 แยกภาชนะใส่อาหารหรือใช้ช้อนกลางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสีไอโอดีนในน้ำลาย

          1.6 แยกซักเสื้อผ้า เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสีที่ขับออกทางเหงื่อ

 

  1. ข้อปฏิบัติอื่นๆ หลังการรักษา

         2.1 รับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมน ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ โดยเริ่มรับประทานยาตั้งแต่วันแรกที่ออกจากโรงพยาบาล

         2.2 งดเว้นการตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด จนกว่าโรคของท่านจะอยู่ระยะที่ปลอดภัยแล้ว หากต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

         2.3 มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

         2.4 เพื่อมิให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านก่อน หากแพทย์สงสัยว่าอาการผิดปกติเกี่ยวข้องกับโรคของต่อมไทรอยด์ที่ท่านเป็นอยู่

 

ข้อมูลโดย: สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิหยาลัย

 

 

ปรึกษาออนไลน์

 นัดหมายรับบริการ

สนใจแพคเกจ 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ