สาระน่ารู้เกี่ยวกับคอพอกเป็นพิษและการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131)

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » สาระน่ารู้เกี่ยวกับคอพอกเป็นพิษและการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) แบ่งปันไปยัง facebook


 

สาระน่ารู้เกี่ยวกับคอพอกเป็นพิษและการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131)

 

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอด้านหน้าต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วยปีกซ้ายและขวา ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อหลายอวัยวะ เช่น มีผลต่อการทำงานของหัวใจและระบบประสาท มีผลต่อพัฒนาการของสมองในวัยเด็ก และมีผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เป็นต้น

ต่อมไทรอยด์ปกติจะหนักประมาณ 15-20 กรัม และมองไม่เห็นชัดเจน ถ้าต่อมมีขนาดใหญ่กว่าปกติจะมีลักษณะคล้ายมีก้อนเนื้อมาพอกที่คอ จึงเรียกว่า "คอพอก" ซึ่งมีทั้งแบบคอพอกเป็นพิษ (ทางการแพทย์นิยมเรียกว่า ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) และคอพอกแบบไม่เป็นพิษ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเฉพาะ คอพอกแบบเป็นพิษ เท่านั้น

 

 

1.คอพอกเป็นพิษ คืออะไร

  คอพอกเป็นพิษ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินปกติ ทำให้มีอาการใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็วและแรง เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก มือจะอุ่น และชื้น ขี้ร้อน กินจุแต่ผอม ชอบทำอะไรเร็วๆ ถ่ายอุจจาระบ่อย วันละหลายครั้ง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ในผู้ป่วยบางคนอาจพบตาโปน

โดยสาเหตุที่ทำให้คอพอกเป็นพิษ ไม่ได้เกิดจากการขาดอาหารทะเล หรือ ขาดสารไอโอดีนแต่อย่างใด ดังนั้นการรับประทานอาหารทะเลจำนวนมากๆ จึงไม่เกิดประโยชน์หรือทำให้โรคดีขึ้น ผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษโดยส่วนใหญ่จะมีต่อมไทรอยด์โตขึ้น

 

2.คอพอกเป็นพิษ รักษาอย่างไร ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่นิยม อยู่ 3 วิธี คือ

 

    2.1 การรับประทานยาต้านไทรอยด์ฮอร์โมน

     ยาต้านไทรอยด์ฮอร์โมนที่ใช้บ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ เมธิมาโซล (Methimazole) และ โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil, PTU) ทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้น คือ เหนื่อยลดลง หายจากอาการใ0สั่น และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังจากรับประทานยา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอยู่นานประมาณ 1ปี ถึง 1ปีครึ่ง จึงจะหยุดยาได้และอาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำ

ซึ่งข้อเสียของวิธีการรักษาด้วยยา คือ ต้องใช้เวลานานกว่าจะหาย และโดยส่วนใหญ่มักไม่หายขาด ซึ่งกรณีกลับเป็นซ้ำ แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการรับประทานสารรังสีไอโอดีน หรือ ผ่าตัด เพื่อจะได้หายขาด

     2.2 การรับประทานสารรังสีไอโอดีน (I-131)

     สารรังสีไอโอดีน คือ สารไอโอดีนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยสามารถปล่อยรังสีได้ ซึ่งจะแตกต่างกับสารไอโอดีนในธรรมชาติที่ไม่ปล่อยรัง โดยรังสีนี้สามารถใช้ถ่ายภาพ และรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

ในผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเลหรือสารทึบรังสี สามารถใช้สารรังสีไอโอดีนได้ เนื่องจากอาการแพ้ดังกล่าว เกิดจากสารที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่ตัวไอโอดีนเอง โดยสารรังสีไอโอดีนสามารถให้ด้วยการรับประทานใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่เป็นน้ำและแคปซูล

หลังจากรับประทาน สารรังสีไอโอดีนจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์และปล่อยรังสีออกมา ทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงและหายจากอาการเป็นพิษ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก ง่าย และปลอดภัย กล่าวคือหลังรับประทานสารรังสีไอโอดีนที่โรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นและสังเกตว่าต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงประมาณ 1-2 เดือนหลังรักษา

     2.3 การผ่าตัดต่อมไทรอยด์

     การรักษาคอพอกเป็นพิษด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ แพทย์จะทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไปบางส่วนวิธีนี้ทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงทันที แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมนัก เนื่องจากมีผลข้างเคียงของการผ่าตัดเกิดขึ้นได้ โดยปัจจุบันการผ่าตัดจะใช้ในรายที่คอโตมากๆ หรือ คอพอกนั้นกดหลอดอาหารและหลอดลมซึ่งทำให้มีอาการกลืนหรือหายใจลำบาก

 


3. การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการรักษาคอพอกเป็นพิษด้วยวิธีการรับประทานสารรังสีไอโอดีน

เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาคอพอกเป็นพิษด้วยวิธีการรับประทานสารรังสีไอโอดีน ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. หยุดยาต้านไทรอยด์อย่างน้อย 7 วันก่อนการรักษา
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเล เกลือป่น น้ำปลาที่มีไอโอดีนผสมอยู่อย่างน้อย 7 วันก่อนการรักษา
  3. งดวิตามินรวม ยาแก้ไอ หรือยาต่างๆ ที่มีไอโอดีนผสมอยู่อย่างน้อย 7-14 วันก่อนการรักษา
  4. สำหรับสตรีต้องแน่ใจว่าไม่ตั้งครรภ์ และไม่ได้อยู่ในภาวะให้นมบุตร

 

ข้อมูลโดย: สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า

 

 

ปรึกษาออนไลน์

 นัดหมายรับบริการ

สนใจแพคเกจ 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ