สาระน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์และการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131)

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » สาระน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์และการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) แบ่งปันไปยัง facebook


 

 

สาระน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์และการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131)
 

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์และการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน

 

  1. เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้วรักษาได้หรือไม่

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นชนิด Papillary และ Follicular ซึ่งสามารถรักษาได้ และผลการรักษาอยู่ในระดับดีมาก มีรายงานการรอดชีวิตที่ 20 ปี สูงถึงประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

 

  1. มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary และ Follicular มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ชนิด Papillary และ Follicular จะประกอบด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ตามด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีน และยาฮอร์โมนไทรอยด์ตามลำดับ ซึ่งยาฮอร์โมนไทรอยด์นั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต

 

  1. การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยวิธีรับประทานสารรังสีไอโอดีน มีวิธีการรับประทานที่ลำบากหรือไม่

ไม่ลำบาก สารรังสีไอโอดีน หรือที่รู้จักกันในนาม "น้ำแร่รังสี" มีอยู่ 2 รูปแบบ คือรูปแบบที่เป็นของเหลวมีลักษณะใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส) และรูปแบบที่เป็นแคปซูล

 

  1. การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีน ต้องเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่

กรณีผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่รักษาด้วยการรับประทานสารรังสีไอโอดีนปริมาณสูงจำเป็นต้องเข้าพักในโรงพยาบาลเพื่อแยกตัวไม่ให้ผู้อื่นได้รับรังสีจากตัวท่านโดยห้ามออกนอกห้องโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งระยะเวลาเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ประมาณ 3-7 วัน หรือจนกว่ารังสีจะถูกขับออกจากร่างกาย จนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อคนรอบข้าง และไม่อนุญาตให้ญาติเฝ้า แต่สามารถเข้าเยี่ยมได้ครั้งละไม่เกิน 15 นาที หรือตามเวลาที่กำหนดหน้าห้องพัก

 

  1. ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีนมีอะไรบ้าง จะเหมือนการได้รับเคมีบำบัดหรือไม่

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดทั่วๆไปแล้ว จะพบว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นน้อยกว่าการให้เคมีบำบัดมาก เพราะเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับเซลล์ของต่อมไทรอยด์ โดยสารรังสีไอโอดีนที่รับประทานจะเข้าไปจับต่อมไทรอยด์และเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดี มีสารบางส่วนเข้าไปจับในกระเพาะอาหารและต่อมน้ำลาย จึงอาจพบผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น

  • อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ผู้ป่วยน้อยรายที่อาจจะมีอาเจียนด้วย โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
  • ต่อมน้ำลายอักเสบ พบประมาณ 10-30% ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมที่ต่อมน้ำลาย ทั้งนี้อาการขึ้นอยู่กับปริมาณของสารรังสีไอโอดีนที่ใช้รักษา ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดื่มน้ำมากๆ อมลูกอมรสเปรี้ยว หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง

 

  1. เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ห้ามรับประทานอาหารชนิดใดบ้าง

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ไม่จำเป็นต้องงดเว้นอาหารใดเป็นพิเศษ ยกเว้นช่วง 2 สัปดาห์ก่อนรับประทานสารรังสีไอโอดีน และ 1 สัปดาห์หลังการรักษาซึ่งแพทย์และพยาบาลจะแจ้งให้งดรับประทานอาหารที่มีสารไอโอดีนสูง เพื่อให้ต่อมไทรอยด์และเซลล์มะเร็งไทรอยด์สามารถจับสารรังสีไอโอดีนได้ดีขึ้น ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งหากพ้นช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ 

 

  1. อาหารอะไรบ้างที่มีสารไอโอดีนสูง อาหารที่มีสารไอโอดีนสูง ได้แก่
  1. อาหารทะเลทุกชนิด เช่น สัตว์ และพืชทะเล ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก สาหร่ายทะเล เป็นต้น
  2. เกลือเสริมไอโอดีน หรือเรียกอีกอย่างว่า “เกลืออนามัย” สำหรับเกลือที่ได้จากทะเลที่ไม่ได้เติมสารไอโอดีนลงไปนั้นสามารถรับประทานได้ เพราะถือว่าปริมาณไอโอดีนน้อยมากๆ เนื่องจากขั้นตอนในการทำเกลือทะเลนั้น ทำให้สารไอโอไดด์สูญสลายเป็นจำนวนมาก
  3. น้ำปลาเสริมไอโอดีน ไข่เสริมไอโอดีน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีการเสริมไอโอดีน และอาหารอื่นๆ ที่การเติมสารไอโอดีนลงไป ซึ่งท่านสามารถดูได้จากการอ่านฉลาก ซึ่งอาหารที่มีการเติมสารไอโอดีนลงไป ฉลากจะมีการระบุถึงปริมาณไอโอดีนที่มีอยู่ในอาหาร

 

ข้อมูลโดย: สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ปรึกษาออนไลน์

 นัดหมายรับบริการ

สนใจแพคเกจ 

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ